ชาวสวนยาง! หันมาเลี้ยงลูกหมูขาย จนกลายเป็นอาชีพหลัก



ชาวสวนยางหันมาเลี้ยงหมู เน้นเลี้ยงแม่พันธุ์ขายลูกหมูสร้างรายได้ จากอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านของ นางแอมสรวง สายเผอ อายุ 40 ปี ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 255 ม.12 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง เกษตรกรที่ยึดอาชีพกรีดยางพารา พร้อมสร้างอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงหมู
นายบุญรอด บุญช่วย ผู้ใหญ่บ้านเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างเจอปัญหาเศรษฐกิจราคายางพาราตกต่ำ ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ นางแอมสรวง เคยยึดอาชีพหลักคือกรีดยางพารา ตอนนี้ตัดสินใจโค่นยางทิ้ง และสร้างคอกหมูเพื่อขยายคอกเพิ่ม
จากอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหมู่บ้าน จากโครงการส่งเสริมอาชีพ เป็นโครงการที่ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม
ด้านนางแอมสรวง สายเผอ กล่าวว่า ตนเองได้เลี้ยงหมูมานานกว่า 10 ปีแล้ว ตนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางกองทุนหมู่บ้าน  ตนได้เลือกเลี้ยงหมูพันธุ์ เน้นเลี้ยงแม่พันธุ์ขายลูกหมู ซึ่งตอนนี้มีหมูที่อยู่โครงการส่งเสริมอาชีพประมาณ 60 ตัว และมีหมูที่ตนเลี้ยงเองประมาณ 80 ตัว รวมมีหมูทั้งหมด 140 ตัว ตนเน้นเลี้ยงแบบวิธีธรรมชาติ ใส่อาหารและดูแลคอกหมูให้สะอาดตลอดเวลา
สำหรับการจำหน่ายหมูนั้น ลูกหมูพันธุ์อายุ 2 เดือน ตัวละ 2,000 บาท อายุ 3 เดือนกว่า ตัวละ 3,000 บาท และราคาหมูเนื้อขายทั้งตัว ตามราคาท้องตลาดกิโลกรัมละ 75 บาท หมูหนึ่งตัวมีน้ำหนักประมาณ 100 กว่ากิโลกรัม ตกตัวละประมาณ 7,000 กว่าบาท
ซึ่งขายให้คนในชุมชน แม่ค้า ส่งตามงานต่างๆ และยังส่งให้กับกลุ่มแม่บ้านแปรรูปในพื้นที่อีกด้วย หากสนใจสามารถติดต่อสั่งหมูที่ตนเองได้ตลอด ที่โทร.084-7455349

ชาวสวนยาง! หันมาเลี้ยงลูกหมูขาย จนกลายเป็นอาชีพหลัก



อยากเป็นนายตัวเอง! พยาบาลสาวหันมาเพาะปลูกตะบองเพชรขาย พร้อมแนะนำคนสนใจ



อยากเป็นนายตัวเอง อยากมีเวลาให้กับคนในครอบครัว พยาบาลสาวหันมาเป็นนายตนเอง เพาะปลูกตะบองเพชรขายสร้างรายได้งดงาม

น.ส.ศรีวรรณ กอธรรมรังษี  อายุ 41 ปี อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ตนเองทำงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง แต่ระยะหลังมาอยากเป็นนายตัวเอง อยากมีเวลาให้กับคนในครอบครัวมากขึ้น จึงได้ลาออกและหันมาเพาะเลี้ยงหน่ายตะบองเพชรอย่างจริงจัง
ตนชอบตะบองเพชร เพราะต้นตะบองเพชรมีหลากหลายสายพันธ์ ลำต้นเล็กใช้พื้นที่ปลูกน้อย แต่ละต้นแต่ละสายพันธุ์มีรูปลักษณ์และสีสันที่แตกต่างกันไป โดยได้ไปซื้อสายพันธ์ต่างๆ มาจากฟาร์มตะบองเพชรและนำเข้าจากต่างประเทศ เรียนรู้วิธีการปลูกการเพาะ การดูแล เพื่อนำความรู้มาดูแลสวนตะบองเพชรของตนเองที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นๆ
จนเริ่มมีการเพาะขยายพันธุ์มีปริมาณที่มากขึ้นนับหมื่นต้น จนแน่นโรงเรือนจึงได้เริ่มนำออกมาขายอย่างจริงจัง ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก และกลุ่มเฟซบุ๊กตะบองเพชรรวมทั้งเว็บไซต์จำหน่ายตะบองเพชร จนมีลูกค้าที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชม และเลือกซื้อเป็นจำนวนมากจนเห็นเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยตนได้ร่วมลงทุนกับ น.ส.ธนิฐฐา เพ่งธรรมกีรติ หรือหญิง อายุ 41 ปี เพื่อนสาว ซึ่งเป็นคนที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการปลูกและการขายมาก่อน
โดยตนได้ใช้พื้นที่หลังอาคารพาณิชย์โครงการศุภลักษณ์ซิตี้ คลอง 7 ลำลูกกา เลขที่ 39/298ม.4 ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่หน้าอาคารเปิดเป็นร้านกาแฟเบเกอร์รี่ชื่อร้าน C Cactus cafe ทำโรงเรือนรักษาอุณหภูมิเต็มพื้นที่ในการเพาะปลูกและจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใน
รวมทั้งให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการร้านกาแฟได้เรียนรู้และเลือกดูชม ซื้อต้นตะบองเพชรได้อย่างสบายใจ โดยขณะนั่งดื่มกาแฟก็สามารถเลือกซื้อได้ เพราะทางร้านมีวางประดับอยู่โดยรอบ ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการกับทางร้าน เลือกซื้อกลับไปประดับบ้านแทบทุกวัน เริ่มขายตะบองเพชรได้ประมาณ 2 เดือน สร้างรายได้เดือนละประมาณ 10,000 บาท


อยากเป็นนายตัวเอง! พยาบาลสาวหันมาเพาะปลูกตะบองเพชรขาย พร้อมแนะนำคนสนใจ


‘จิงจูฉ่าย’ พืชผักสมุนไพรปลูกง่าย สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน


‘จิงจูฉ่าย’ พืชผักสมุนไพร ปลูกง่าย พื้นที่ 4 ไร่เศษ สร้างรายได้ต่อเดือนกว่าหนึ่งแสนบาท

ต้องยอมรับว่ากระแสผัก ‘จิงจูฉ่าย‘ ในขณะนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ซึ่งเจ้าผักชนิดนี้ต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม ความสูงเฉลี่ยประมาณ 0.5 – 1 เมตร ใบมีลักษณะคล้ายกับขึ้นฉ่าย ทางการแพทย์จีนถือว่า ‘จิงจูฉ่าย’ เป็นยาเย็น ลดความร้อนในเลือด บำรุงปอด ขับพิษ ขับลม นิยมนำมาใส่ในอาหารอาทิ ต้มเลือดหมู นอกจากนี้สามารถนำใบไปต้มน้ำหรือนำไปคั้นสด ดื่มเพื่อบำรุงร่างกายได้
สำหรับประเทศไทย ‘จิงจูฉ่าย’ มีการนำมาเพาะปลูก และวางขายตามแผงผัก มานานหลายสิบปีแล้ว กระทั่งมีกระแสข่าวว่าผักชนิดนี้รักษาโรคมะเร็งได้ ซึ่งจากงานวิจัยของแพทย์แผนปัจจุบันระบุไว้ว่า ‘จิงจูฉ่าย’ เป็นพืชผักที่ป้องกันโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังไม่มีการวิจัยว่ารักษาโรคมะเร็งได้จริงหรือไม่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามกระแสผัก ‘จิงจูฉ่าย‘ ตอนนี้ถือว่ามาแรงมากๆ ทั้งกลุ่มคนรักสุขภาพ และผู้ประกอบการร้านต้มเลือดหมูต่างๆ ไม่เว้นแต่ห้างสรรพสินค้าทั้งรายเล็กรายใหญ่ ก็ต้องมีผักชนิดนี้วางจำหน่ายไว้เช่นกัน
วันนี้ MThaiNews ในช่วง ‘เกษตรสร้างรายได้‘ เดินทางไปพบกับคุณสมโภชน์ เนียมแตง หรือ ‘ลุงเปี๊ยก’ เจ้าของสวน ‘จิงจูฉ่าย สวนลุงเปี๊ยก ตั้งอยู่ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี กับพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ในการเพาะปลูก ‘จิงจูฉ่าย’ ซึ่งลุงเปี๊ยก จะมาบอกถึงเทคนิคและวิธีการเพาะปลูก รวมถึงช่องทางการตลาดเพื่อสร้างรายได้
ลุงเปี๊ยก เปิดเผยว่าจุดเริ่มต้นของการมาปลูกผักจิงจูฉ่ายนั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ที่แล้ว สมัยนั้นได้นำผักไปขายที่ตลาด แล้วไปเจอแม่ค้าขายผักร้านข้างๆ นำผักชนิดนี้มาขาย ทำให้เกิดความสนใจอยากลองปลูกบ้าง และไปเจอกองผักจิงจูฉ่ายที่มีรากติดมาด้วย จึงขอซื้อมาประมาณ 1 กิโลกรัม เพราะในสมัยนั้นสวนที่ปลูกผักจิงจูฉ่ายโดยเฉพาะยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน
ลุงเปี๊ยก เปิดเผยอีกว่า แม้ภาพที่เห็นในตอนนี้จะมีผักจิงจูฉ่ายขึ้นเต็มแปลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการตัดส่งให้ลูกค้า ซึ่งในแต่ละวันจะต้องตัดส่งตามออร์เดอร์เฉลี่ยวันละ 40-50 กิโลกรัม หรือต่อเดือนกว่า 1,500 กิโลกรัม กลุ่มลูกค้าหลักๆจะเป็นร้านต้มเลือดหมู ห้างสรรพสินค้า กลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งได้ลูกสาวเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำการตลาด ผ่านเพจเฟซบุ๊ก มีทั้งส่งผ่านทางบริษัทขนส่ง และเดินทางเข้ามาเลือกซื้อจากที่สวนโดยตรง สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 100,000 – 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ในแต่ละช่วง
และยังต้องมีค่าใช้จ่ายจากการจ้างคนงานมาช่วยตัดต้นจิงจูฉ่ายอีกเฉลี่ยเดือนละ 30,000-40,000 บาท โดยใช้คนงานต่อวันประมาณ 2-5 คน ตามออร์เดอร์ที่เข้ามา ซึ่งการตัดจิงจูฉ่ายค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะเก็บได้ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้สำหรับที่สวนของลุงเปี๊ยกเตรียมขยายสวนเต็มรูปแบบ ในพื้นที่ อ.บางเลน กว่า 17 ไร่ เพื่อลองรับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


‘จิงจูฉ่าย’ พืชผักสมุนไพรปลูกง่าย สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน


อดีตมนุษย์เงินเดือน หันมาทำ ‘ฟาร์มจิ้งหรีด’ รายได้เกือบ 5 หมื่นต่อเดือน


เกษตรสร้างรายได้‘ ในวันนี้ ขอพาทุกท่านไปพบกับคุณอัมพร เกิดปรางค์ หรือคุณโต้ง อายุ 54 ปี อดีตเคยทำงานด้านกราฟฟิกให้กับบริษัทเอเจนซี่ชั้นนำ รวมถึงสถานีข่าวชื่อดัง เป็นมนุษย์เงินเดือนมากว่า 10 ปี ปัจจุบันเป็นเจ้าของ ‘ฟาร์มจิ้งหรีด เมืองนนท์‘ ภายในซอยวัดขวัญเมือง ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรีโดยคุณโต้ง ได้เปิดเผยว่า เนื่องจากทำงานด้านกราฟฟิก ต้องใช้สายตาในการจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานตลอดทั้งวัน ทำให้เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพประกอบกับอายุเริ่มมากขึ้นแล้ว จึงมีความคิดที่อยากจะออกมาทำธุรกิจส่วนตัวของตนเอง ซึ่งเดิมรุ่นพ่อ แม่ ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนทุเรียน จึงคิดที่อยากจะมาทำด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นอาชีพที่ผูกพันมาตั้งแต่เด็กๆ
จนมีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ก่อนจะพุ่งเป้าไปที่การเลี้ยง ‘จิ้งหรีด’ ทันที เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีระยะเวลาในการเลี้ยงดูไม่มากนัก ใช้เวลาประมาณ 37 วันก็สามารถนำออกจำหน่ายได้แล้ว จึงศึกษาวิธีการเลี้ยง ‘จิ้งหรีด‘ โดยตระเวนไปตามฟาร์มเลี้ยงต่างๆ และมีโอกาสได้พบกับเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด ที่ จ.สิงห์บุรี เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งได้แนะนำให้คุณโต้งเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย ‘ลังไม้’
คุณโต้ง เผยว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย ‘ลังไม้‘ กับแบบ ‘บ่อปูน‘ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ข้อดีขอลังไม้สามารถควบคุมอากาศได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถดูดซับกลิ่นที่มาจากขี้จิ้งหรีดได้ ไม่มีกลิ่นรบกวน แต่มีต้นทุนสูง ในส่วนของบ่อปูนจะมีราคาที่ต่ำกว่า แต่ข้อเสียคือไม่สามารถควบคุมอากาศได้ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หากภายในบ่อมีอากาศที่เย็นมากจนเกินไปจะทำให้จิ้งหรีดตายได้ และยังส่งผลไปถึงการวางไข่ที่น้อยลงอีกด้วย ที่ฟาร์มของคุณโต้งจึงใช้ลังไม้ในการเลี้ยงจิ้งหรีดมาโดยตลอด
โดยเริ่มลงมือทำฟาร์มอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำหรับสถานที่ที่เลี้ยงต้องโปร่ง มีอากาศถ่ายเท หลังจากนั้นก็ประกอบลังไม้ขึ้นมาขนาด กว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 240 เซนติเมตร สูง 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานในการเลี้ยงจิ้งหรีด ใช้ไม้แบบ MDF หรือไม้กระดาษอัดมาเป็นวัสดุในการผลิตลังไม้ พร้อมกับติดสก็อตเทปไว้บริเวณขอบบนด้านในของลังไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดออกจากบ่อที่เลี้ยงไว้

เมื่อได้ลังไม้แล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องใช้ยาชีวภาพพ่นให้ทั่วลังไม้ เพื่อฆ่าเชื้อราและตัวไร ก่อนจะนำแผงไข่แบบกระดาษมือสอง ซึ่งไปรับซื้อมาจากฟาร์มไข่ไก่ ราคาอยู่ที่แผงละ 1 บาท มาเรียงแบบประกบ 2 เรียงให้ทั่วลังไม้ ก่อนจะใช้ยาชีวภาพพ่นให้ทั่วแผงไข่ เพื่อป้องกันเชื้อราและตัวไรอีกรอบหนึ่ง โดยขั้นตอนนี้คุณโต้งเน้นย้ำว่าควรทำแบบนี้ทุกครั้งที่จะนำไข่จิ้งหรีดลงสู่บ่อเลี้ยง เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่อ่อนต่อโรค พร้อมใช้ถ้วยใส่น้ำรองไว้บริเวณขาของลังไม้ เพื่อป้องกันมดซึ่งเป็นศัตรูตัวสำคัญของจิ้งหรีด
ส่วนสายพันธุ์ของจิ้งหรีดที่นำมาใช้มี 2 ชนิดคือ ทองแดง และทองดำ สาเหตุที่ต้องเลี้ยงผสมกันนั้น คุณโต้งบอกว่าเนื่องจากสายพันธุ์ทองดำ มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย และกัดกินพวกเดียวกันเอง แต่หากนำ 2 สายพันธุ์มาเลี้ยงรวมกัน การกัดกินกันเองจะเกิดขึ้นน้อย เมื่อได้ไข่ของจิ้งหรีดมาแล้วก็นำมาวางให้ทั่วลังไม้ จะใช้เวลาประมาณ 7 วันก็จะฟักออกมาเป็นตัว ขนาดเท่ามดตัวเล็กๆ
เมื่อฟักตัวแล้วอาหารจะให้เป็น ‘หยวกกล้วย’ โดยให้ครั้งเดียวและปล่อยให้หยวกกล้วยเน่าไปเอง หลังจากนั้นเปลี่ยนมาให้หัวอาหารแบบโปรตีน 21% จะมีส่วนประกอบพวกข้าวโพด ข้าวสาร ปลาป่น และรำ สาเหตุที่ต้องให้อาหารแบบโปรตีน 21% นั้น เนื่องมาจากจิ้งหรีดในช่วงเล็กจะมี 2 เพศ หัวอาหารดังกล่าวจะไปเร่งให้จิ้งหรีดส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย ทำให้ส่งผลดีต่อจำนวนของจิ้งหรีดในอนาคต ยิ่งมีเพศเมียมากยิ่งส่งผลดี โดยจะให้ในช่วงเช้าเวลาเดียวพอเพียงจนถึงหัวค่ำ
dscn6641-copy
ในเรื่องการให้น้ำถ้าเป็นช่วงจิ้งหรีดตัวเล็กๆ จะใช้ท่อ PVC เจาะรูและสอดไส้ตะเกียงไว้เป็นจุดๆ เพื่อไม่ให้จิ้งหรีดรุมกินน้ำอยู่ ณ จุดจุดเดียวกันมากจนเกินไป หากจิ้งหรีดตัวโตขึ้นมาแล้ว ใช้เป็นถาดน้ำ ใส่เศษผ้าและหินกรวดสะอาดไว้ในถาดด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดจมน้ำตาย
ถัดมาอีกประมาณ 35 วัน คราวนี้จิ้งหรีดตัวผู้จะเริ่มขัดปีกส่งเสียงดัง แสดงว่าเป็นช่วงที่ตัวเมียพร้อมวางไข่แล้ววิธีดูง่ายๆ คือตัวเมียจะมีพฤติกรรมใช้หางพยายามจิ้มที่หิน และให้ตรวจดูบริเวณใต้เศษผ้าที่วางรองไว้ในถาดน้ำ จะมีไข่ของจิ้งหรีดลักษณะจะคล้ายๆกับ เม็ดข้าวสาร
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวในการเก็บไข่ ฟาร์มของคุณโต้งจะใช้ขุยมะพร้าวนำไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อ ก่อนจะนำไปตากให้แห้งแล้วนำมาใส่ไว้ในขัน ลังไม้ 1 ลังจะได้ประมาณ 25 ขัน หรือประมาณ 20 กิโลกรัม เมื่อจิ้งหรีดวางไข่หมดแล้ว ก็จะเก็บจิ้งหรีดเพื่อส่งขายต่อไป ขั้นตอนการเก็บไข่นั้นคุณโต้งบอกเทคนิคดีๆอีกว่าไม่ควรใช้ดิน เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้เลยว่าภายในดินจะมีเชื้อโรคหรือไม่
ซึ่งการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายนอกจากนำตัวจิ้งหรีด และไข่ ไปจำหน่ายได้แล้วนั้น สามารถนำขี้ของจิ้งหรีดไปจำหน่ายได้อีกด้วย โดยลังไม้ 1 ลังจะได้ประมาณ 30 กิโลกรัมขายได้ประมาณ 50 บาท
ส่วนราคาการจำหน่ายจิ้งหรีดขณะนี้จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท หากเป็นช่วงฤดูหนาวราคาจิ้งหรีดจะขยับตัวสูงขึ้น ส่วนไข่จิ้งหรีดจะขายได้ตกขันละ 50 บาท ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นแม่ค้าที่ขายแมลงทอดโดยตรง โรงงานต่างๆ รวมถึงนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นเหยื่ออาหารให้กับสัตว์อาทิกิ้งก่า ปลามังกร เป็นต้น อีกทั้งยังมีการส่งทางไปรษณีย์ส่งแบบทั่วประเทศอีกด้วย รายได้ต่อเดือนจากการขายจิ้งหรีดเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 หมื่นบาท
แต่คุณโต้งยังต่อยอดการทำฟาร์มจิ้งหรีด ด้วยการแปรรูปเป็นจิ้งหรีดทอดทรงเครื่องต่างๆ อาทิรสเผ็ดมัน รสปาปริก้า รสสาหร่าย รสชีส จะบรรจุในแพ็กเกจขนาด 20 กรัม พร้อมออกแบบโลโก้ในแบบเฉพาะตัว โดยใช้ความรู้จากงานด้านกราฟฟิกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จำหน่ายในห่อละ 20 บาทเท่านั้น ผลตอบรับอยู่ในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว ซึ่งการแปรรูปจิ้งหรีดยังเพิ่มมูลค่าได้ถึงเดือนละเกือบ 1 หมื่นบาท หากคิดรายได้จากการทำฟาร์มจิ้งหรีดของคุณโต้งรวมทุกช่องทางแล้วสามารถสร้างรายได้ต่อเดือนประมาณ 40,000 – 50,000 บาท
ทั้งนี้ที่ฟาร์มของคุณโต้งยังทำชุดเลี้ยงจำหน่าย มีแบบชุดทดลองเลี้ยง และแบบชุดใหญ่ หากใครสนใจอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด หรือสนใจสั่งซื้อ สามารถติดต่อได้ที่ 094-428-2438 คุณโต้ง ฟาร์มจิ้งหรีด เมืองนนท์
dscn6666
dscn6637


อดีตมนุษย์เงินเดือน หันมาทำ ‘ฟาร์มจิ้งหรีด’ รายได้เกือบ 5 หมื่นต่อเดือน


ชาวบ้านออกตระเวนหาผึ้งป่า ยอมเจ็บตัวเพื่อแลกกับรายได้วันละ 1,000 บาทเป็นอาชีพทำเงิน


ชาวบ้านท่าวังทอง จ.พะเยา ออกตระเวนหาผึ้งป่าขายหารายได้เสริมเข้าครอบครัว ต้องยอมเจ็บตัวเพื่อแลกกับเงินรายได้วันละ 700-1,000 บาท
วันที่ 19 เม.ย.61 นายล้วน ผมดำดก อายุ 57 ปี เลขที่98/1 ม.13 ชาวบ้านตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ออกตะเวนสอดส่องหาผึ้งป่าตามป่าริมทางต่างๆ ที่ผึ้งชอบทำรัง แล้วตัดมาขายช่วงฤดูแล้ง เพื่อสร้างรายได้เสริมเข้าครอบครัวช่วงหน้าแล้ง เพราะผึ้งป่าในช่วงนี้น้ำผึ้งจะมีรสหวานหอม ให้น้ำหวานมาก รังใหญ่กว่าทุกฤดูกาลวิธีการเอาผึ้งป่า เมื่อเห็นรังผึ้งตามป่าต้องเตรียมเสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อไม่ให้ผึ้งมาต่อยตามร่างกาย และจะใช้วิธีรมควันไฟไว้ข้างล่างของรังผึ้งเพื่อให้ควันไฟไปตอมรังผึ้ง จากนั้นผึ้งจะพากันบินหนีแล้วใช้มีดหรือกรรไกรตัดกิ่งที่เตรียมมาคอยๆ ตัดกิ่งไม้ ก็สามารถนำกรรไกรตัดกิ่งตัดออกมาได้เลยทันที แต่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการออกหาผึ้งป่า
โดยในแต่ล่ะวัน จะหาได้อย่างน้อย 1-2 รัง และนำมาขายโดยมีแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้าน แล้วนำไปขายวางขายต่อที่ตลาดต่างๆ โดยตัดรังผึ้งใหญ่ประมาณเท่าฝ่ามือ ราคาเริ่มตั้ง 50-100 ตามขนาดของรังผึ้ง ผึ้งบางรังมีราคาซื้อขายรับซื้อเหมาสูงถึงรังล่ะ 300 บาทก็มี  นอกจากนี้น้ำผึ้งก็ยังสามารถขายได้ราคาดีอีกด้วย ขวดละ 300-500 บาท ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดีในช่วงนี้



ชาวบ้านออกตระเวนหาผึ้งป่า ยอมเจ็บตัวเพื่อแลกกับรายได้วันละ 1,000 บาทเป็นอาชีพทำเงิน


อาชีพทำเงินสาวสาธารณสุข ทำ ‘วุ้นแฟนซี’ ขายเป็นอาชีพเสริม สุดปังทำเงินได้มากกว่าเงินเดือน


สาวสาธารณสุขทำ ‘วุ้นแฟนซี’ ขายเป็นอาชีพเสริม สุดปังสร้างรายได้มากกว่าเงินเดือน เผย ต่อยอดการทำวุ้นหน้าตาแปลกใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำใคร
วันที่ 8 มีนาคม 2561 นางนงนภัส สภานุช อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 170/4 หมู่ที่ 4 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเรียนจบทางด้านสาธารณสุขศาสตร์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลตรัง ได้ใช้เวลาว่างศึกษาการทำวุ้นแฟนซีกะทิสด รูปสัตว์ ดอกไม้ และผลไม้ต่าง ๆ จากยูทูปจนสามารถนำออกจำหน่ายได้เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้ต่อยอดการทำวุ้นหน้าตาแปลกใหม่ เพื่อไม่ให้ซ้ำแบบใครมาโดยตลอด
ทั้งนี้ถือเป็นการลดความจำเจของลูกค้า และครอบคลุมตลาดให้กว้างมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งต้องใช้เบ้าทำวุ้นเกือบ 200 อัน กว่าจะได้ออกมาเป็นวุ้นแฟนซีที่สวยงามและโดนใจลูกค้า ขณะเดียวกันก็มีการทำเค้กวันเกิดจากวุ้นแฟนซีบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทะเล ชีวิตสัตว์โลกผู้น่ารัก และความสดใสตามสไตล์เจ้าของวันเกิด ทำให้เป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งใน จ.ตรัง และจังหวัดใกล้เคียง
โดยมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ทั้งยังปลอดภัยจากการใช้สารกันบูด และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 4-5 วัน จำหน่ายในราคาชิ้นละ 5-20 บาท แต่หากเป็นเค้กวุ้นแบบเป็นถาด ราคาจะอยู่ที่ 300-1,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีลูกชุบ ขนมชั้น และขนมไทยอื่น ๆ อีกหลากหลาย สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
โดยในวันตรุษจีนที่ผ่านมาเพียงวันเดียว มีรายได้เกือบ 8,000 บาทเลยทีเดียว สำหรับส่วนผสมหลักประกอบด้วย ผงวุ้น น้ำกะทิสด น้ำตาลทราย และสีผสมอาหาร ซึ่งไม่มีหน้าร้านแต่เปิดให้ลูกค้าสั่งจองได้ทางเฟซบุ๊คหรือทางเพจวุ้นไออุ่น ซึ่งวุ้นแฟนซีเน้นการทำมือและทำกันในครอบครัว ส่วนลูกค้ามีทั้งใน จ.ตรัง, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง และจ.ภูเก็ต
“วุ้นกะทิแฟนซีไม่ใช้สารกันบูด และเปิดขายทางเฟซบุ๊คหรือทางเพจวุ้นไออุ่น ราคาตั้งแต่ 5-1,000 บาท รายได้สูงสุดต่อวันประมาณ 7,000 บาท หรือ 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนลูกค้ามีทั้งใน จ.ตรังและหลายจังหวัดภาคใต้” นางนงนภัส กล่าว






อาชีพทำเงินสาวสาธารณสุข ทำ ‘วุ้นแฟนซี’ ขายเป็นอาชีพเสริม สุดปังทำเงินได้มากกว่าเงินเดือน


อดีตคนงานสู้ชีวิต! หันปลูกพืชหมุนเวียนหลังฤดูกาลทำนา สร้างรายได้ทั้งปี



อดีตคนงานโรงไม้สู้ชีวิต! พลิกวิกฤตหนีความยากจน หันมาปลูก “พืชหมุนเวียน” หลังฤดูกาลทำนา สร้างรายได้ตลอดทั้งปี
ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า ได้พบกับ นายปัญญา สุดาปั่น อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 38 บ้านโคกโต้ง หมู่ที่ 22 ต.ชุมพลบุรี อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ อดีตคนงานโรงไม้แห่งหนึ่งในตัว อ.ชุมพลบุรี สู้ชีวิตเพื่อหนีจากความยากจนและภาระหนี้สินที่รุมเร้า พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสด้วยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการพาภรรยาและครอบครัวหันปลูกพื้นหมุนเวียนหลังฤดูกาลทำนาบนผืนดินมรดกตกทอดผืนสุดท้าย เนื้อที่ 25 ไร่ สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี
นายปัญญา กล่าวว่า แต่ก่อนตนทำงานเป็นลูกจ้างขายแรงงานอยู่ที่โรงงานไม้ แถวอำเภอชุมพลบุรี พออายุเริ่มมากแล้วจึงอยากออกมาทำไร่-นา สวนผสม ปลูกพืชหมุนเวียน สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตนจะปลูกทั้งกล้วย พริก ข้าวโพด บวบ และถั่วฝักยาว ซึ่งทำให้ตนและครอบครัวมีรายได้วันละ 300-400 บาทต่อวัน ในเนื้อที่ 25 ไร่แบ่งมาปลูกพืชทำเป็นไร่นาสวนผสม จำนวน 5 ไร่ และอีก 20 ไร่ ตนได้หว่านเมล็ดถั่วพร้าเพื่อลดต้นทุนในการใช้สารเคมี และลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมีไปในตัว
บรรดาพืชผักที่เก็บได้ทั้งหมดตนก็เอาไปขายที่ตลาดสดเทศบาลชุมพลบุรี ไม่ว่าจะเป็นพริก บวบ ข้าวโพด ถั่วฝักยาว มันเทศ มะรุม และ กล้วย เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ทุกวันนี้ไม่มีภาระหนี้สินแถมกลับมีสุขภาพดีขึ้น ที่สำคัญได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ ลูก อย่างมีความสุข บั่นปลายชีวิตไม่ต้องไปออกทำงานแบกหามเร่ขายแรงงานเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ ยังได้ทำน้ำหมักเพื่อไปฉีดแทนยาฆ่าแมลง พืชผักของตนอาจจะดูไม่สวยงาม แต่ทุกต้นที่ปลุกปลอดสารเคมีสารพิษ 100% ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย


อดีตคนงานสู้ชีวิต! หันปลูกพืชหมุนเวียนหลังฤดูกาลทำนา สร้างรายได้ทั้งปี


เกษตรกรพะเยา ปลูก ‘หอมจีน’ จำหน่ายสร้างรายได้งาม



เกษตรกรในจังหวัดพะเยาปลูก ‘หอมจีน’ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียง 45 วัน สามารถจำหน่ายได้ไร่ละ 4-5 หมื่นบาท
วันที่ 16 พ.ค.61 เกษตรกรในพื้นที่ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ทำการปลูกหอมจีนเพื่อจำหน่ายต้นหอม ให้กับลูกค้าและเป็นที่ต้องการของตลาดรวมถึงยังมีราคาที่ดีอีกด้วย โดยนางรุ่ง ภูมิภาค เกษตรกรในพื้นที่ตำบลแม่นาเรือ ระบุว่า ตนเองปลูกหอมจีน หรือทั่วไปเรียกว่าหอมแบ่ง จำนวนประมาณ 9 ไร่ซึ่งจะจำหน่ายเป็นต้นหอมให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่เดินทางมารับซื้อถึงในสวน โดยจะใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 45 วัน  จากนั้นก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าเดินทางเข้ามารับซื้อ โดยจะรับซื้อในราคาที่เหมากันเป็นไร่ ไร่ละประมาณ 4-5 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ดี ตนเองได้ทำการปลูกหอมจีนมาเป็นระยะเวลาหลายปี ในแต่ละปีก็จะมีพ่อค้าเดินทางมารับซื้อต้นหอมที่นี่อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายกฤษฎาพงษ์ นนท์ศรี ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลแม่นาเรือ ระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่นาเรือ ได้ทำการปลูกหอมจีนหรือหอมแบ่งดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยมีเกษตรกรจำนวนประมาณ 200 ราย พื้นที่ปลูกประมาณ 500 ไร่
ในแต่ละปีจะสามารถจำหน่ายได้โดยพ่อค้าจะมารับซื้อโดยการเหมาเป็นไร่ อยู่ที่ประมาณ 4-50,000 บาท บางปีก็มีราคาสูงถึง 7 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในตำบลเป็นอย่างมาก
ด้านนางอุษา ครุฑผาสุก แม่ค้าจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เดินทางมารับซื้อต้นหอมดังกล่าว ระบุว่า ตนเองจะเดินทางมารับซื้อต้นหอมที่ในพื้นที่ตรงนี้เป็นประจำ เพื่อนำไปส่งต่ออีกทีหนึ่ง โดยในช่วงนี้ถือว่า ราคาต้นหอมที่นี่เริ่มขยับตัวสูงขึ้น แต่ในพื้นที่อื่นยังราคาต่ำอยู่
เนื่องจากคุณภาพของต้นหอมที่นี่จะสามารถเก็บได้นาน และมีคุณภาพซึ่งน่าจะเกิดจากสภาพอากาศที่ดี โดยขณะนี้จะรับซื้อในราคาเริ่มต้นที่ 35,000 -40,000 บาทต่อไร่ และคาดว่าราคาจะขยับตัวสูงขึ้นเนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าเดินทางเข้าซื้อกันเป็นจำนวนมาก


เกษตรกรพะเยา ปลูก ‘หอมจีน’ จำหน่ายสร้างรายได้งาม


ตำรวจพะเยาใช้เวลาว่างจากงานปลูก ‘องุ่นไร้เมล็ด’ สร้างรายได้งาม



ดาบตำรวจไพรัตน์ อะปะมาเถ ตำรวจสังกัดศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ภูธรจังหวัดพะเยา พาผู้สื่อข่าวเข้าเยี่ยมชมวิธีการดูแลผลผลิตองุ่นไร้เมล็ด พันธุ์บิวตี้ซิสเลท ของตนเองอย่างใกล้ชิด หลังจากที่เขาใช้เวลาว่างจากงานราชการและงานประจำ ทำการปลูกไว้บริเวณพื้นที่สวน ประมาณ 1 ไร่เศษ ในพื้นที่ หมู่ที่ 11 ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา

โดยดาบตำรวจไพรัตน์ กล่าวว่า ตนเองใช้เวลาว่างจากการที่ทำงานประจำ หันมาปลูกองุ่นไร้เมล็ด พันธุ์บิวตี้ซิสเลท ประมาณ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา โดยทำการปลูกไว้จำนวน 54 ต้นพบว่าผลผลิตเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากรสชาดองุ่นมีความหวานอร่อย ที่สำคัญองุ่นที่นี่จะไม่ใช้สารเคมีเลย โดยจะใช้ปุ๋ยประเภทมูลสัตว์เป็นหลัก
ซึ่งพอผลผลิตออกมาก็จะมีผู้มาสั่งจองและเดินทางมาซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยจะขายในราคา กิโลกรัมละ 250 บาท ที่ผ่านมาสามารถให้ผลผลิตต่อรอบมากกว่า 100 กิโลกรัม และในรอบนี้น่าจะสามารถให้ผลผลิตได้ถึง 200 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี


ตำรวจพะเยาใช้เวลาว่างจากงานปลูก ‘องุ่นไร้เมล็ด’ สร้างรายได้งาม


สาววิศวะยอมลาออกจากงานประจำ หันมาทำเกษตรผสมสร้างรายได้ดี



สาววิศวะยอมลาออกจากงานประจำหันมาทำเกษตรผสมสร้างรายได้ดี ยึดแนวตามในหลวง ร.9 เป็นหลักในการดำรงชีพ

วันที่ 24 มกราคม 2562 นางสาวชิดชนก ชนะไพริน อายุ 32 ปี เจ้าของฟาร์มผักลุงจุ๋ม สาววิศวะยอมลาออกจากงานประจำหันมาทำเกษตรผสม
นางสาวชิดชนก เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นแค่อยากปลูกในสิ่งที่เราชอบกิน และไม่อยากปลูกอะไรที่เป็นชนิดเดียว เพราะตลาดไม่ค่อยแน่นอน ก็เลยมองว่าการปลูกเมล่อนเป็นผลไม้ที่ปลูกยาก ซึ่งไม่ใช่ใครที่จะปลูกได้ ต่อมาก็มัลเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ช่วยในเรื่องป้องกันโรคความดัน โรคเบาหวาน สามารถทานได้หมด และปลูกไม่ยาก เมื่อปลูกครั้งเดียวมีผลผลิตให้ทั้งปี
ต่อมาก็ปลูกผักบุ้ง ซึ่งผักบุ้งจะเป็นผักออกรอบเร็ว ตนคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้มีรายได้ทุกวัน ส่วนเมล่อนนั้นจะมีรายได้ทุกเดือน โดยเมล่อนมีทั้งหมด 3 โรงเรือน ซึ่ง 3 เดือนเก็บครั้งหนึ่ง โดยเราวางแผนการผลิตให้มันมีเก็บทุกเดือนมีรายได้ทุกเดือน ส่วนผักบุ้งให้มีรายได้ทุกวัน มะเขือเปราะมีรายได้ทุกวัน ส่วนเสาวรสก็จะนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นน้ำ
ทั้งนี้ แรงบันดาลใจนั้นมาจากในหลวง ร.9 แนวคิดเกษตรพอเพียง ทำยังไงให้มีรายได้เข้ามาทุกวันให้เราอยู่ได้พอกินพอใช้มีสุขภาพที่ดี
ซึ่งในตอนนี้ผลออกมาดีเกินคาด ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ โดยตนนั้นเรียนจบคณะวิศวกร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าลาดกระบัง ก่อนหน้านี้ได้ทำงานประจำของบริษัทเอกชนในกรุงเทพ ลาออกจากงานประจำมาทำตรงนี้ได้เป็นระยะเวลา 7 เดือนแล้ว
ตนได้ใช้พื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ แต่ตอนนี้ทำได้แค่ประมาณ 2 ไร่ ยังเหลืออีก 2 ไร่รอทำขยายโครงการผักสลัด และปลูกมัลเบอร์รี่เพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับการปลูกพืชดังกล่าว อย่างเมล่อนทำให้มีรายได้ 80,000 – 90,000 บาทต่อเดือน ส่วนผักบุ้งรายได้ต่อวันเกือบ 1,000 บาท


สาววิศวะยอมลาออกจากงานประจำ หันมาทำเกษตรผสมสร้างรายได้ดี


เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดตัวใหม่ที่กำลังติดตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง กก.ละ 100 บาทเท่านั้น



เกษตรกรชาว จ.สงขลา เผย เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดตัวใหม่ที่กำลังติดตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง กิโลกรัมละ 100 บาทเท่านั้น

ที่ฟาร์มเพาะเห็ดหลินจือแดงบุหลัน ในพื้นที่หมู่ 7 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ฟาร์มเห็ดของนางนิตยา เพชรรัตน์ เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดหลินจือแดง และเพาะเห็ดถังเช่าสีทอง ได้มีการปลูกเห็ดโคนญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในท้องตลาด
เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีรสชาติดี เนื้อดอก ก้านดอก มีความกรอบแน่น และเนื้อคล้ายเห็ดโคน เห็ดชนิดนี้ราคาไม่แพงมากนัก ทางเจ้าของฟาร์มขายแบบใส่กล่อง ส่งขายกล่องละ 20 บาท กิโลกรัม 100 บาทเท่านั้น
นางนิตยา เพชรรัตน์ ได้เปิดเผยว่า ตนได้มีการพัฒนาการเพาะเห็ดขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง ก็คือการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและเริ่มติดตลาด
โดยเป็นการขายในราคาระดับรากหญ้า ซื้อง่ายขายคล่องที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถกินได้ แบ่งใส่กล่องขายกล่องละ 20 บาท กิโลกรัมละ 100 บาท ในขณะที่ราคาขายในศูนย์การค้าทั่วไปอยู่ที่ 250-300 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้มีลูกค้าตามมาซื้อถึงที่ฟาร์ม
ข้อดีของเห็นโคนญี่ปุ่นคือเป็นเห็ดที่มีรสชาติดี เนื้อดอก ก้านดอก มีความกรอบแน่น เนื้อคล้ายเห็ดโคน นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด และยังมีคุณสมบัติเด่นคือสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 สัปดาห์ โดยยังมีความสด รูปร่าง ขนาดน้ำหนัก และ สีสัน ไม่เปลี่ยนแปลง
คุณนิตยา สำหรับเห็ดโคนญี่ปุ่น ในธรรมชาติจะเจริญเติบโตได้ดีบนท่อนไม้ผุ แต่ในการเพาะเลี้ยงจะใช้ขี้เลื่อยที่เพิ่มอาหารเสริมให้เห็ดชนิดนี้สามารถเติบโตได้ดี ระยะเวลาการเพาะเห็ดจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตจนหมดสิ้น ประมาณ 130-145 วัน
สำหรับระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ใน 1 รอบ การผลิตจะเก็บดอกได้ 8-15 ครั้ง ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทั้งหมดประมาณ 60-80 วัน ผลผลิตที่ได้ ต่อถุงจะอยู่ที่ 100-150 กรัมต่อถุง


เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดตัวใหม่ที่กำลังติดตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง กก.ละ 100 บาทเท่านั้น


เกษตรกร! ปลูกส้มออร์แกนิคขาย รายได้ต่อเดือนกว่า 5-6 หมื่นบาท



เกษตรกรในพื้นที่ตำบลห้วยเจริญราษฎร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ปลูกสวนส้มออร์แกนิค บนเนื้อที่กว่า 29 ไร่ เตรียมพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและชิมส้มในสวน แบบสดๆ สร้างรายได้ต่อเดือนกว่า 5-6 หมื่นบาท

นางนันทนิตย์ คำจันทร์ทา อายุ 45 ปี เกษตรกรชาวตำบลเจริญราษฏร์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นำผู้สื่อข่าวเข้าดูสวนส้ม ที่ใช้พื้นที่ประมาณ 29 ไร่ ในการปลูกส้มออร์แกนิค
นางนันทนิตย์เผยว่า ตนปลูกส้มมาแล้วเกือบ 4 ปี สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้กว่าเดือนละ 5-6 หมื่นบาท ส้มเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากตนไม่ใช้สารเคมี
นางนันทนิตย์ เล่าว่า แต่ก่อนสวนแห่งนี้จะทำการปลูกผลไม้ผสมผสาน แต่ต่อมาตนตัดสินใจปลูกส้ม เนื่องจากเป็นผลไม้ ที่สามารถเก็บได้อย่างต่อเนื่อง ความโดดเด่นของสวนตน จะแตกต่างจากสวนส้มแห่งอื่นๆ เนื่องจากใช้วิธีการปลูก และดูแลผลผลิตแบบไม่ใช้สารเคมี ปลอดภัยจากสารพิษ ถึงแม้จะมีสีผิวที่ไม่สวย แต่รสชาติดี ซึ่งในช่วงนี้แต่ละวันจะสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 300 กิโลกรัม และขายในราคากิโลกรัมละ 25 บาท โดยจะมีผู้เดินทางมารับซื้ออย่างต่อเนื่องถึงสวนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ สวนส้มของตนเองยังมีบรรยากาศที่ดีสวยงาม อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำ อากาศดีทำให้ผลผลิตออกมาดีด้วย ซึ่งต่อไปสวนแห่งนี้ จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้คนที่เดินทางมาซื้อส้ม สามารถเลือกซื้อและเด็ดส้มรับประทานกันแบบสดๆ ได้เลยเนื่องจากปราศจากสารเคมี

เกษตรกร! ปลูกส้มออร์แกนิคขาย รายได้ต่อเดือนกว่า 5-6 หมื่นบาท


อดีตกุ๊กทำอาหารเพาะ ‘ปลาหางนกยูง’ ส่งออกรายได้เฉียดครึ่งล้านต่อเดือน



ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งการเลี้ยง ‘ปลาหางนกยูง‘ จากแค่รายได้เสริมจะเป็นการต่อยอดสู่รายได้หลักในการหล่อเลี้ยงครอบครัวได้….” เสียงจากหญิงสาวท่านหนึ่ง ผู้ที่เป็นเจ้าของฟาร์มปลาหางนกยูงส่งออก ณ ปัจจุบัน ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาอย่างมากมาย กว่าจะประสบความสำเร็จได้ถึงทุกวันนี้ ด้วยวัยเพียง 24 ปี เท่านั้น!!
วันนี้ MThaiNews ในช่วง ‘เกษตรสร้างรายได้‘ มีโอกาสได้พบกับคุณสุดที่รัก แผลงพาลี หรือคุณฟ้า อายุ 24 ปี เจ้าของ ‘บูฟาร์มปลาหางนกยูงนนทบุรี‘ ตั้งอยู่ภายในซอยสามัคคี 22 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี จากอดีตกุ๊กทำอาหาร ที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี ก่อนจะพลิกผันมาเพาะ ‘ปลาหางนกยูง’ คัดเกรด สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน พร้อมกับมีกลุ่มลูกฟาร์มกว่า 20 ราย สร้างกลุ่มเครือข่ายส่งออกปลาหางนกยูงสู่ต่างแดนโดยคุณฟ้า เปิดเผยกับทีมข่าว MThai ว่า เริ่มทำงานมาตั้งแต่อายุ 18 ปี เป็นกุ๊กทำอาหาร ระหว่างนั้นก็ได้ทำการเพาะกุ้งก้ามแดงไปด้วย ซึ่งช่วงนั้นกำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงอย่างมาก จนกระทั่งมาช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงก็ตกลงไป คุณพ่อเลยให้คำแนะนำให้มาเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูง ซึ่งคุณพ่อก็ทำฟาร์มปลาหางนกยูงอยู่แล้ว แต่ไม่ถนัดด้านการตลาด จึงเข้ามาช่วยเรื่องการทำการตลาดจากในโซเชียล กระทั่ง 2 ปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจออกจากงานประจำ เพื่อมุ่งมั่นสู่การเพาะปลาหางนกยูงอย่างจริงจัง
ช่วงๆแรกที่เข้ามาทำค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่ได้มีความรู้เรื่องการเลี้ยงปลามากเท่าไรนัก ซึ่งยอมรับว่าต้องลองผิดลองถูกเกือบ 1 ปี แต่ก็แลกมาด้วยประสบการณ์อันล้ำค่า ทั้งเรื่องการเลือกซื้อสายพันธุ์ปลาเกรด วิธีการเลี้ยง การดูแลและรักษาหากปลาป่วย รวมถึงเรื่องของอาหารปลา
สำหรับวิธีการเลี้ยง ‘ปลาหางนกยูง‘ นั้น คุณฟ้า เผยว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ใส่ใจ 2 เรื่องสำคัญคือ ‘อาหารและน้ำ’ โดยที่ฟาร์มจะให้ไรแดงเป็นอาหารหลัก ส่วนอาหารเม็ดจะเป็นอาหารเสริมให้กับปลาหางนกยูง โดยจะให้วันละ 2 ครั้ง คือช่วงเช้า และช่วงเย็น เรื่องสภาพน้ำจะทำการดูดขี้ปลาอย่างน้อย 2-3 วัน ต่อครั้ง โดยจะสูบน้ำออกจากบ่อเลี้ยงประมาณ 50% และเติมน้ำใหม่เข้าไป 50% โรคที่พบส่วนใหญ่จะมีโรคจุดขาว และโรคหางเปื่อย ซึ่งมักพบบ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง หรือในช่วงอากาศหนาว โดยทางฟาร์มจะใส่ยาดักไว้ก่อนซึ่งจะเป็นยาแก้อักเสบ สำหรับช่วงหน้าร้อนปลาจะสมบูรณ์มากที่สุด เลี้ยงง่าย และไม่ค่อยเป็นโรค

อดีตกุ๊กทำอาหารเพาะ ‘ปลาหางนกยูง’ ส่งออกรายได้เฉียดครึ่งล้านต่อเดือน