ปลูกมะระปลอดสาร หลังว่างจากนาข้าว รายได้ 1แสนบาท/รอบ
ปลูกมะระปลอดสาร หลังว่างจากนาข้าว รายได้หลักแสนบาทต่อรอบต่อ 1 ไร่ ระหว่างที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วสามารถสร้างรายได้ดีกว่าปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่าเสียโอกาส มะระเป็นพืชที่น่าสนใจในเชิงธุรกิจ ใครสนใจลองศึกษาจากตัวอย่างเกษตรกรที่ทำแล้วสร้างรายได้เพื่อเป็นแนวทางซึ่งทำรายได้หลักแสนต่อไร่มาแล้ว
หลังจากที่เกษตรกรไถ หว่าน ปักกล้าข้าวในนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็คงพอมีเวลาว่างที่จะสร้างงานสร้างเงินจากงานเกษตรกรรมบนเนื้อที่ไร่นาของตนที่ยังว่างอยู่ โดยเฉพาะที่ว่างบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งก็แล้วแต่เนื้อที่ของเกษตรกรแต่ละรายที่ยังว่างและทำประโยชน์ได้ เท่าที่เห็นส่วนมากจะว่างอยู่ตั้งแต่ 1 งาน หรือร้อยตารางวาจนถึง 1 ไร่ – 2 ไร่ ส่วนมากก็จะปลูกพืชผักสวนครัว รวมทั้งไม้ผลบางชนิด นอกจากไว้ใช้กินในครัวเรือนแล้วที่เหลือก็นำออกขาย แต่มีเกษตรกรบางรายที่จัดสรรพื้นที่ของตนเองให้เป็นระบบ เป็นล็อค เป็นแปลง ทำประโยชน์จากการปลูกพืชผักระยะสั้น เป็นรายได้เสริมระหว่างรอเก็บเกี่ยวจากนาข้าว
คุณ สำเริง คงจินดา เกษตรกรบ้านดงเย็น ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกรนาข้าว ทำนาข้าวอยู่ประมาณ 15 ไร่ ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากบ้านดงเย็นตั้งอยู่บนที่ดอน จากการทำนาปีซึ่งต้องคอยเวลาข้าวออกรวงและเก็บเกี่ยว พอมีเวลาว่างอยู่บ้าง
คุณสำเริง คงจินดา เป็นเกษตรกรที่ขยันทำกินไม่ยอมปล่อยเวลาว่างให้เสียเปล่า จึงทำการปลูกพืชอายุสั้นหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาบนเนื้อที่ของตนเองที่ว่างอยู่ราว 3 – 4 ไร่ ซึ่งพืชอายุสั้นที่ลงในที่ว่างเปล่าสร้างรายได้หมุนเวียนได้ทุกเดือน
คุณสำเริง สนใจปลูกพืชผักต่างๆ ในช่วงที่ว่างเว้นจากนาข้าวมาหลายปีแล้ว จนเป็นภาพชินตาของเพื่อนบ้าน ผลผลิตที่ได้ก็นำออกขายที่ตลาดอู่ทอง จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักของพ่อค้าส่งมารับซื้อผลผลิต จากไร่ของตนเอง และเมื่อกลางปี 2556 บ้านดงเย็นได้รับคำแนะนำจากองค์การบริหารพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป็นองค์การมหาชน สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาแนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากเกษตรอินทรีย์ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่มีผลดีกับเกษตรกรโดยตรง ชาวบ้านตื่นตัวมากเพราะ อพท. จัดสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ให้กับบ้านดงเย็น นอกเหนือจากที่ชาวบ้านนำผลผลิตออกจำหน่ายเองทั้งในตลาดอู่ทอง และตลาดนัดต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านดงเย็นจึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์มาตลอด ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านบางรายทำกันอยู่แล้ว เมื่อได้รับการส่งเสริมจาก อพท. จึงเป็นเหมือนแรงบวกให้เกษตรกรตื่นตัวมากขึ้น
คุณสำเริง คงจินดา ทำหลายอย่างภายหลังจากเห็นแนวทางด้านการตลาดของเกษตรอินทรีย์ จนมีความมั่นใจด้านการตลาดโดยเฉพาะ มะระจีน แตงกวา คึ่นช่าย ผักชี ถั่วฝักยาว คะน้าฮ่องกง พืชผักทั้งหมดปลอดสารเพราะใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะมะระจีนจะให้รอบการผลิตที่ให้ผลดีคลอดระยะเวลา 60 วัน หลังจากติดดอกผล คุณสำเริง เริ่มจากไถดิน ด้วยผานละเอียดปรับดินให้ร่วนซุยด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หมั่นให้ดินชุ่มชื้นแต่ไม่ให้ย้ำขัง แปลงลงมะระของคุณสำเริง ขนาดกว้างราว 2 เมตร ยาว 30 เมตร เมื่อได้ดินร่วนซุยผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแล้วก็ลงเมล็ดผักชี หรือคึ่นช่าย แล้วคลุมด้วยฟางเพื่อให้ดินชุ่มชื้น เมื่อผักชีหรือคึ่นช่ายขึ้นเป็นต้นอ่อนแล้ว คุณสำเริงจึงลงเมล็ดพันธุ์มะระจีนด้านข้างของแปลงที่ยกไว้ และตั้งร้านเป็นลักษณะกระโจมสามเหลี่ยมสูงประมาณ 1.8 – 2.0 เมตร ทิ้งช่วงห่างหลุมปลูกมะระราว 1 เมตร พร้อมผูกเส้นเอ็นเป็นลักษณะตารางเพื่อให้มะระได้เกาะเลื้อย
การทำร้านเพื่อให้มะระเลื้อยขึ้นอยู่กับเกษตรกรออกแบบบางรายทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดความสูงราว 2 เมตร เมื่อมะระเลื้อยเกาะพันกับร้านแล้วเมื่อมะระออกผลจะได้ห้อยผลลงเมื่อต้นมะระเจริญเติบโตและเกาะพันกับร้านแล้วก็ให้ปุ๋ยหมักอีกเล็กน้อยหรือน้ำหมักชีวภาพซึ่งเป็นทั้งฮอร์โมนบำรุงต้นและยาฆ่าแมลง ส่วนการให้น้ำก็ให้น้ำหยดดีที่สุด คือ ประหยัดและได้ผล
เนื่องจากผืนดินจะชุ่มชื้น ถ้าต้นสมบูรณ์ดี มะระจะผลิดอกออกผลในระยะ 55 – 60 วัน หลังออกผลแล้วขนาดผลยาว 5 – 6 นิ้ว ให้ฉีดน้ำหมักสมุนไพรเพื่อกันแมลงเจาะผล เกษตรกรบางรายอาจจะนำกระดาษห่อผลเผื่อความยาวกระดาษห่อไว้ประมาณ 15 นิ้วเย็บปลายถุงห่อเพื่อกันแมลงเจาะ ระยะออกผลและโตเต็มที่ราว 45 – 50 วัน ช่วงการให้ผลของมะระนานราว 60 วัน นั่นหมายความว่ามะระจะติดดอกออกผลตลอดระยะเวลา 60 วัน หลังออกดอกติดผลครั้งแรก
ปลูกมะระ พื้นที่ 1 ไร่จะได้ต้นมะระราว 700 – 800 ต้น ขึ้นอยู่กับการยกแปลงและแบ่งพื้นที่ถ้าต้นสมบูรณ์เต็มที่จะได้มะระคิดเป็นน้ำหนัก 5,000 – 6,000 กิโลกรัม หรือ 5 – 6 ตัน ราคาขายส่ง ที่บ้านดงเย็น (มิถุนายน 2557) กิโลกรัมละ 20 บาทนั่นหมายความว่า 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ไร่ละ 100,000 – 120,000 บาทต่อรอบ 4 เดือน หรือราว 120 วัน บางเดือนช่วงฤดูแล้งในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนราคาขึ้นถึงกิโลกรัมละ 50 บาท นั่นหมายความว่าเกษตรกรจะมีรายได้ราว 250,000 – 300,000 บาทต่อรอบการผลิต
คุณสำเริง คงจินดา บอกว่ารายได้ดูเหมือนมากแต่ก็ต้องดูแลรักษากันพอสมควรโดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องขยันทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก สมุนไพรชีวภาพ เพื่อบำรุงและป้องกันแมลง บางครั้งก็เสี่ยงกับราคาเหมือนกัน อาศัยว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ ลูกค้าจึงไม่เกี่ยงเรื่องราคาปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่ นอกจากนี้ยังเก็บพืชคลุมดินเช่น คึ่นช่ายหรือผักชีได้อีกต่างหาก เมื่อจบฤดูผลิต คุณสำเริงก็จะหันไปปลูกพืชผักอื่นๆ หมุนเวียนไป เช่น คะน้าฮ่องกง ถั่วฝักยาว จนหมดฤดู ผลิตก็ไถกลบปรับดินใหม่กลับไปปลูกมะระอีก หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ คุณสำเริง คงจินดา เป็นเกษตรกรทั้งนาข้าวที่เป็นรายได้ประจำและใช้เวลาว่างจากงานนาข้าว ปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัวจนสร้างรายได้หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา เดือนๆ หนึ่งจึงมีรายได้เสริมไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นถึงสี่หมื่นบาท
ที่มา http://www.biztalk.in.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น