เห็ดหลินจือแดง เพาะเป็น รวยได้ ตลาดต้องการอีกเพียบ
สองสามีภรรยาวัย 55 ปี ชาว อ.กระแสสินธุ์ เพาะเห็ดหลินจือแดง ปีแรกประสบความสำเร็จ ขายสร้างรายได้อย่างงามเลี้ยงครอบครัว และจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ของ อ.กระแสสินธุ์ไปแล้ว เตรียมขยายพื้นที่และหาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาให้เป็นเชิงธุรกิจ โดยมีนายอำเภอกระแสสินธุ์เข้ามาดูแลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง
ที่ฟาร์มเห็ดบุหลัน ของนายเอกชัย –นางนิตยา เพชรรัตน์ สองสามีภรรยาวัย 55 ปี หมู่ที่ 7 ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ซึ่งได้ประกอบอาชีพเพาะเห็ดนางฟ้ามาตลอด 2 ปี โดยผลิตก้อนเชื้อเพาะเห็ดเอง และเมื่อต้นปี 2560 ได้ทำการทดลองเพาะเห็ดหลินจือแดงเพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิด เนื่องจากเป็นเห็ดที่มีคุณค่าในเรื่องสรรพคุณทางยาที่เป็นสารแอนติออกซิแดนซ์ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดมะเร็ง รวมถึงการป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย จึงทำให้เห็ดหลินจือมีราคาสูง และตลาดมีความต้องการสูง โดยมีบุตรชายที่เป็นนักศึกษาปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นำความรู้ที่ได้เรียนมาและค้นคว้าการเพาะเห็ดหลินจือแดงทางอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยพ่อแม่ในการทดลองเพาะเห็ดหลินจือแดง จนพ่อแม่ประสบความสำเร็จ เพาะเห็ดหลินจือแดงได้เองและสามารถเป็นวิทยากรบรรยายขั้นตอนการเพาะเห็ดหลินจือแดงได้อย่างคล่องแคล่ว
สำหรับโรงเพาะเห็ดของนางนิตยา เพชรรัตน์ มีโรงเพาะเห็ดนางฟ้า 5 โรงและโรงเพาะเห็ดหลินจือแดง 2 โรง โรงแรกเพาะไว้ 3,000 ก้อน ติดดอก 2,000 กว่าก้อน เสีย 200 ก้อน ถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนอีกโรง 5,000 ก้อน จะเก็บผลผลิตได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ในวันนี้เป็นการเก็บผลผลิตเห็ดหลินจือแดงโรงแรก สำหรับครั้งนี้เป็นการเก็บครั้งที่ 6 โดยเก็บ 10 วันต่อ 1 ครั้ง และรุ่นนี้จะเก็บทั้งหมด 12 ครั้ง จึงจะหมดรุ่นในรอบนี้ หลังจากเก็บเห็ดแล้วก็จะนำไปตัดให้เป็นชิ้นๆ แล้วนำไปตากแดดให้เห็ดแห้งสนิท 3 แดด 3 วัน เนื่องจากไม่มีตู้อบแห้ง จึงต้องใช้วิธีธรรมชาติในการทำให้เห็ดแห้งสนิท แล้วใส่ถุงนำมาขายถุงละ 100 บาท
ในส่วนรายได้จากการเก็บดอกเห็ดของโรงแรกที่เพาะไว้ 3,000 ก้อน ติดดอก 2,000 กว่าก้อน จะอยู่ที่ 60,000 บาทของการเพาะเห็ดรอบนี้ ส่วนอีกโรง 5,000 ก้อน ที่จะเก็บผลผลิตได้อีกไม่เกิน 2 เดือน คาดว่า รายได้จากการเก็บดอกเห็ดจะอยู่ที่ 120,000 บาทของการเพาะเห็ดรอบนี้
ขณะเดียวกันนางนิตยา เพชรรัตน์ ได้จดทะเบียนเห็ดหลินจือแดงเป็นสินค้า OTOP ของ อ.กระแสสินธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีนายสุพัชรพงศ์ วรประดิษฐ์ นายอำเภอกระแสสินธุ์ เข้ามาดูแลในเรื่องของขั้นตอนกระบวนการผลิต ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากที่จะทำให้เห็ดมีคุณภาพ เนื่องจากยังไม่มีเครื่องอบแห้ง
ส่วนเรื่องของแหล่งเงินทุนที่จะนำมาขยายโรงเพาะเห็ดหลินจือแดงและซื้อตู้อบแห้ง ได้มีการประสานทางเกษตรเพื่อหาเงินทุน SME รวมทั้ง ธกส.ก็เข้ามาเยี่ยมที่ฟาร์มเห็ดพร้อมให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูก รวมทั้งประสานพลังงานจังหวัดสนับสนุนตู้อบแห้ง ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่สำคัญที่จะทำให้เห็ดหลินจือแดงมีความสะอาดและมีคุณภาพ และประสานพัฒนาชุมชนเพื่อปรับปรุงพัสดุภัณฑ์ให้ดูดีมีคุณภาพและดูน่าซื้อ
นางนิตยา เพชรรัตน์ บอกว่า เพิ่งจะเริ่มทำเป็นปีแรก ประมาณ 8 พันก้อน ผลผลิตออกมาดีมาก เขาออกดอกพร้อมกันหมดทุกถุง ออกมาสวยมาก เพราะว่าอากาศที่นี่ดี เราก็รู้ว่าเห็ดหลินจือออกดอกยาก ที่นี่น้ำประปาไม่มีคลอรีน น้ำเป็นธรรมชาติ ตอนนี้ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ประมาณ 3,000 ก้อน อีกโรงหนึ่ง 5,000 ก้อน ที่จะได้เก็บเกี่ยวต่อไปอีกไม่เกิน 2 เดือน
ในด้านตลาดลูกชายจะขายทางไลน์และขายกับชาวบ้านด้วย ชาวบ้านที่นี่เขาซื้อไปกิน อาการดีขึ้น เบาหวานลด ความดันลด ก็ขายดิบขายดีเหมือนเทน้ำเทท่าเลย โดยเราขายห่อขนาดทดลองห่อละ 100 บาท แต่ถ้าเราทำขนาดทดลองห่อละ1 กิโลกรัม ราคา 2,000 บาทก็คงจะขายยาก เราทำห่อละ 100 บาท เราทำแบบช่วยชาวบ้าน คนงานก่อสร้างก็มีสิทธิ์กินเห็ดหลินจือได้ คือเราอย่าทำจนแพงเกินพอดี ทำแบบเขากินได้ เรากินได้
ที่มา http://money.sanook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น