หันหลังให้อาชีพลูกจ้าง มาปลูกไผ่เป๊าะ รายได้ดี ไม่มีปัญหาตลาด

คุณประยูร ใจการ มีอาชีพเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ของบริษัทแห่งหนึ่งในตัวจังหวัดพะเยา ตั้งแต่ ปี 2534 จนถึง ปี 2552 ระหว่างที่ทำงาน ได้เพาะไผ่ไปด้วย โดยปลูกไผ่ตั้งแต่ปี 2549
ปลูกครั้งแรก จำนวน 100 ต้น คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1 ไร่ 2 งาน สาเหตุจูงใจในการปลูกไผ่เป๊าะและไผ่ไต้หวัน เนื่องจากช่วงนั้นไผ่มีราคาดี และเป็นอาชีพอิสระ ทำแล้วสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้รวดเร็ว และมีใจรักในการทำเกษตรอยู่เป็นทุนเดิม
ปลูกครั้งแรก จำนวน 100 ต้น คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1 ไร่ 2 งาน สาเหตุจูงใจในการปลูกไผ่เป๊าะและไผ่ไต้หวัน เนื่องจากช่วงนั้นไผ่มีราคาดี และเป็นอาชีพอิสระ ทำแล้วสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้รวดเร็ว และมีใจรักในการทำเกษตรอยู่เป็นทุนเดิม
เนื่องจากพ่อแม่มีอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงได้ลาออกจากการเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์มาปลูกไผ่เพิ่มเติม โดยขยายพื้นที่จากเดิม 1 ไร่ 2 งาน มาปลูกเพิ่มขึ้น เป็นพื้นที่ทั้งหมดในปัจจุบัน จำนวน 7 ไร่ และมีจำนวนต้น 4,000 ต้น ซึ่งขณะนี้ให้ผลผลิตทั้งหมด โดยใช้ทุนเริ่มต้นจากโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.)

คุณประยูร เล่าให้ฟังว่า ไผ่เป๊าะ และไผ่ไต้หวัน ที่ปลูกจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งรายได้เฉลี่ยจากการจำหน่ายผลผลิตของแปลง จะได้วันละ 1,000 บาท โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมผลผลิตจะยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่ราคาแพง และเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ผลผลิตจะมีจำนวนมาก แต่ราคาจะถูกลง เนื่องจากหน่อไม้ตามฤดูกาลจะออกสู่ตลาด รวมทั้งจะมีผลผลิตไผ่เป๊าะและไผ่ไต้หวันจากต่างจังหวัดมาแย่งลูกค้า โดยเฉลี่ยแล้วจะจำหน่ายได้ในราคา ประมาณ 40 บาท ต่อกิโลกรัม
เทคนิคที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ
ในการปลูกไผ่เป๊าะและไผ่ไต้หวันการเตรียมดิน...มีการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ให้กับไผ่ เพื่อเตรียมความอุดมสมบูรณ์ให้กับลำต้นของไผ่ในช่วงเดือนธันวาคม พร้อมให้น้ำกับไผ่อย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3 วันครั้ง และกำจัดวัชพืชภายในแปลงให้สะอาด พร้อมนำฟางข้าวมาคลุมโคนต้นไผ่ เพื่อให้เก็บความชื้นได้ดีและคลุมไม่ให้วัชพืชเกิดขึ้นด้วย
การให้ปุ๋ย...มีการให้ปุ๋ยเคมีเล็กน้อย โดยผสมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ให้กับไผ่ ปุ๋ยที่ใช้คือ สูตร 15-15-15 อัตรา 2 ขีด ต่อต้น
การกำจัดวัชพืช...จะใช้การตัดโดยใช้แรงงานคน ไม่ใช้วิธีการใช้สารเคมีในการกำจัด วัชพืชที่ตัดแล้วจะนำไปเลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยหมักภายในแปลง
การตลาด...จะจำหน่ายโดยส่งให้ลูกค้าขาประจำในตลาดสดของจังหวัดพะเยาทุกวัน จะเริ่มส่ง ตั้งแต่ ตี 3 โดยลูกค้าจะมารับและนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค โดยหน่อไม้ที่จะจำหน่าย คุณประยูรจะนำมาทำความสะอาด ตัดแต่งให้สวยงาม บรรจุถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม บางส่วนพ่อค้าก็มารับซื้อถึงแปลง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภคในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียง
รายได้เฉลี่ยหักต้นทุนแล้ว ประมาณ 1,000 บาท ต่อวัน หรือเดือนละ 30,000 บาท รวม 5 เดือน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท เลยทีเดียว

คุณมนัส สะพานแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไผ่เป๊าะว่า ไผ่เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายด้าน ทั้งใช้อุปโภคและบริโภค ซึ่งขึ้นได้ในธรรมชาติทั่วไป เมื่อศึกษาข้อดีในด้านต่างๆ ของการนำมาใช้ เช่น การบริโภคหน่อ การนำมาใช้ในเครื่องอุปกรณ์จักสาน หรือเครื่องใช้ในครัวเรือน
สำหรับไผ่บริโภคหน่อที่เราพบเห็นและรู้จักกันดี เช่น ไผ่ตง ไผ่รวก ไผ่ซาง ไผ่หก ไผ่สีสุก ไผ่หวาน แต่สำหรับคนภาคเหนือจะรู้จักไผ่อีกชนิดหนึ่ง ในชื่อ ไผ่เป๊าะ หรือ หน่อเป๊าะ ที่มีคุณสมบัติดีเด่นในการให้หน่อ ซึ่งผลผลิตสูงในช่วงฤดูแล้ง หรือจะเรียกอีกอย่างคือ หน่อไม้นอกฤดูกาล ช่วงฤดูแล้งให้น้ำต้นหน่อเป๊าะ จะให้หน่อได้เร็ว (พันธุ์เบา) และมีหน่อจำนวนมาก ประกอบกับคนเหนือนิยมแกงหน่อไม้ใส่น้ำปูกันอย่างมาก
ถือเป็นอาหารสุดยอดของคนเหนือ จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคสูงยิ่ง หน่อเป๊าะ จึงได้นำไปขยายปลูกในหลายพื้นที่ เป็นที่สนใจของเกษตรกรมาก เนื่องจากรายได้จากการขายหน่อ ค่อนข้างทำรายได้ดี เพราะโดยเฉลี่ยในระยะปีที่ 3 ขึ้นไป จะเฉลี่ยรายได้ถึงไร่ละ 30,000-50,000 บาท ต่อปี (จำหน่ายในช่วงเดือน มกราคมถึงพฤษภาคม กิโลกรัมละ 30-40 บาท) ราคาสูงเพราะเป็นการผลิตหน่อไม้นอกฤดูกาล
พันธุ์ไผ่เป๊าะ เท่าที่ทราบ ดูจากลักษณะของกาบหุ้มลำต้น มีกาบสีน้ำตาล กาบน้ำตาลชมพู และกาบน้ำตาลแดง และ ถ้าสังเกตลักษณะของลำ จะมีขนาดลำเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ลำขนาดเล็กจะให้หน่อดก ข้อเสียคือหน่อจะมีขนาดเล็กด้วย
การปลูกไผ่เป๊าะ ทำได้ไม่ยาก วิธีขยายพันธุ์ และนำไปปลูกนิยมขุดลำต้นและนำไปปลูกได้เลย ฤดูกาลและช่วงที่เหมาะสมคือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม อยู่ในช่วงปลายฤดูฝน ระยะปลูก 5x5 เมตร ไร่ละประมาณ 75 ต้น
การดูแลรักษา
หน่อไผ่เป๊าะ จะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป การให้น้ำ การให้ปุ๋ย และการตัดแต่งกอ และการกลบโคนต้น เป็นเรื่องสำคัญ ผลผลิตจะดีหรือไม่ขึ้นกับการบริหารจัดการในการดูแลรักษาเป็นหลัก เมื่อไผ่เป๊าะให้ผลผลิตแล้ว การใช้ปุ๋ย มีทั้งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (ขี้วัว) และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือปุ๋ย 46-0-0 (ยูเรีย) ซึ่งหน่อไผ่เป๊าะที่สมบูรณ์หน่อยจะดกและมีขนาดใหญ่ การใช้ยูเรียสูงหน่อจะโต
แต่มีข้อเสียในการขนส่งไปไกลๆ จะเน่าเสียง่าย ถ้าเป็นตลาดท้องถิ่นไม่มีผลกระทบ หลังฤดูการเก็บเกี่ยวในราวเดือนพฤศจิกายน เกษตรกรจะเริ่มตัดแต่งกอ โดยตัดต้นที่แก่ออก เหลือส่วนโคนไว้ไม่เกิน 5 เซนติเมตร แล้วใช้ไม้ล้อมเป็นคอก ใช้ปุ๋ยคอกกลบโคนต้น พร้อมใช้ปุ๋ยเคมีหว่านบริเวณกอ ใช้ฟางคลุม และให้น้ำบริเวณกอให้ชุ่มอยู่ตลอด ประมาณเดือนมกราคมของทุกปี เมื่ออากาศเริ่มอุ่นไผ่เป๊าะจะเริ่มแทงหน่อ สามารถขุดจำหน่ายได้
วิถีการตลาดของหน่อไผ่เป๊าะ มีจำหน่ายในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย น่าน และ อุตรดิตถ์ และขณะนี้ในพื้นที่ต่างๆ ที่มีหน่อไม้เป๊าะจำหน่าย เกษตรกรมีความสนใจในการขยายพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก เพราะหน่อไผ่เป๊าะเป็นอาหารหลักยอดนิยมของคนเหนือ จุดเด่นเป็นไผ่พันธุ์เบา และรายได้ต่อไร่ค่อนข้างสูงไม่มีปัญหาด้านการตลาด
สำหรับใครที่สนใจ สามารถติดต่อ คุณประยูร ใจการ อยู่บ้านเลขที่ 12 บ้านผาช้างมูบ หมู่ที่ 1 ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (086) 185-5079
ที่มา http://farm.onzorn.info

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น