เห็ดฟางคอนโด ฟาร์มโรงเรือน สวย หวาน กรอบ รายได้ก็งาม
ทำฟาร์มเห็ดฟางแบบโรงเรือนแบบคอนโดขาย รายได้ดี ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสีสวย และเมื่อนำไปปรุงอาหารแล้วรสชาติอร่อย
นางศิริกานต์ ธาตุมณี ส.อบต.บ้านว่าน เกษตรกรบ้านโพนธาตุ หมู่ 6 ต.บ้านว่าน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ที่ทำเห็ดฟางแบบโรงเรือนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี เริ่มต้นจาก 3 โรงเรือน ปัจจุบันมีถึง 9 โรงเรือน สามารถเก็บขายได้ทุกวัน สร้างรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเดือนละกว่า 35,000 บาท เห็ดที่ส่งขายแต่ละวันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสีสวย ดอกโต ที่สำคัญนำไปปรุงอาหารแล้วรสชาติอร่อยกว่าเห็ดฟางที่เพาะแบบอัดฟาง คลุมพลาสติกกับพื้นดิน
นางศิริกานต์ ได้เล่าถึงความเป็นมาในการเพาะเห็ดฟางแบบโรงเรือนแบบคอนโดว่า เริ่มทำครั้งแรกในปี 2550 โดยเริ่มจากที่เป็นคนที่ชอบทานเห็ด มีพี่ชายที่เป็นคนเริ่มเพาะก่อน ซึ่งพี่ชายไปศึกษามาจาก จ.ร้อยเอ็ด จึงได้ศึกษาวิธีการจากพี่ชายว่าเริ่มทำได้ยังไง ก็เลยอยากทำบ้าง
เริ่มแรกทดลองทำ 3 โรงเรือน โรงเรือนหนึ่งมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร รายได้ต่อเดือนก็อยู่ประมาณ 15,000 บาท เมื่อเห็นว่ารายได้จากการขายเห็ดเป็นรายได้เสริมที่ดี จากเดิมทำนาเพียงอย่างเดียว จึงได้ขยายโรงเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 6 โรงเรือน แต่ผลผลิตที่ออกมายังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และเก็บขายไม่ได้ทุกวัน จึงได้เพิ่มเป็น 9 โรงเรือน เพื่อให้สามารถเก็บเวียนได้ทุกวัน ตลอดทั้งเดือน
นางศิริกานต์ เล่าต่อไปอีกว่า ฟาร์มของเราเป็นฟาร์มแบบคอนโด ใน 1 โรงเรือนจะมี 3 แถว แถวละ 3 ชั้น รวมทั้งหมดเป็น 9 ชั้นต่อ 1 ฟาร์ม จะเพาะเห็ดได้ทุกฤดูกาล ยกเว้นฤดูหนาวที่ทำยาก จึงต้องหยุดพักไว้ประมาณ 2 - 3 เดือน ซึ่งดอกเห็ดที่เป็นฟาร์มแบบโรงเรือน แบบคอนโด จะดอกโต มีความกรอบ รสชาติจะหวาน จะไม่เหมือนเห็ดทั่วๆ ไป เพราะไม่มีดิน การดูแลจะยากกว่าที่ปลูกจากดิน ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี ต้องให้แสง ให้น้ำ ปกติจะให้น้ำวันละ 1 ครั้ง
เริ่มแรกเราต้องหมักเชื้อก่อน 5 วัน แล้วถึงเอาขึ้นฟาร์ม ต่อด้วยอบฆ่าเชื้อราประมาณ 4 ชั่วโมง หลังจากนั้น 10 วันจึงจะสามารถเก็บผลผลิตได้ หลังจากเอาขึ้นฟาร์มแล้ว 5 วันก็จะให้น้ำ 1 ครั้ง หลังจากให้น้ำครั้งแรกแล้ว รออีก 3 วันจึงให้น้ำเป็นครั้งที่ 2 แล้วเว้นอีก 2 วันจึงจะให้น้ำได้ตามปกติ คือวันละ 1 ครั้ง
และเรายังสามารถปรับสีของดอกเห็ดได้จากการให้แสงแดด ถ้าดอกโดนแสงเยอะๆ จะดำ ถ้าไม่โดนแสงก็จะขาว เราจึงสามารถปรับสีได้ ซึ่งในตลาดคนจะชอบสีขาวแบบมีสีดำนิดๆ
นางศิริกานต์ เล่าต่อไปอีกว่า ผลกำไรจะตกโรงเรือนละ 4,500 – 5,000 บาท ฟาร์มหนึ่งๆ เก็บได้ 150 - 180 กิโลกรัม ส่งไปขายราคา 50 - 60 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ละเดือนจะเก็บหมุนเวียนไปครบทั้ง 9 ฟาร์ม จะมีรายรับหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ประมาณ 35,000 บาทต่อเดือน ในหนึ่งวันเก็บได้ประมาณ 40 - 50 กิโลกรัม ตกรายได้ต่อวันประมาณ 2,000 – 3,000 บาท ซึ่งเกษตรกรในหมู่บ้านจะรวมกันทำเป็นแบบวิสาหกิจชุมชน ผลผลิตที่ได้จะส่งให้กับกลุ่มเป็นคนดูแลเรื่องการตลาด โดยกลุ่มจะเอาค่าส่วนต่างจากราคาที่ขายประมาณ 5 บาท สมาชิกในกลุ่มไม่ต้องไปนั่งขายเอง
ที่มา http://money.sanook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น